ความสุขของพนักงาน คือ ความสุขของผู้ประกอบการ เป็นไปได้จริงหรือ?
ภาพจากpixabay.com โดย sanuas
นอกเหนือจากความรู้ความสามารถของพนักงานที่เราเฟ้นหากันมาอย่างดีแล้ว การใส่ใจพนักงานให้มีความสุขกับการทำงาน คือ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้คนทำงานมีประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพราะเมื่อพนักงานมีความสุขในการทำงานย่อมส่งผลถึงคุณภาพของงาน และเมื่อคุณภาพดีผลประกอบการย่อมดีตามไปด้วย ซึ่งก็แน่นอนว่าย่อมทำให้ผู้ประกอบการอย่างคุณมีความสุขอย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นเป็นคำตอบว่าทำไมคุณจึงควรใส่ใจลูกน้องของคุณ ให้มีความสุขอยู่เสมอ อย่าลืมนะคะว่าแม้จะมีเงินเป็นค่าตอบแทนให้ในการทำงาน แต่เงินอย่างเดียวก็ไม่อาจซื้อใจคนทำงานได้ตลอดไปหรอกค่ะ แล้วอะไรบ้างล่ะที่จะทำให้พนังงานของคุณมีความสุขกับการทำงานเพิ่มขึ้น
1.สภาพแวดล้อม และ อากาศภายในที่ทำงาน

ภาพจากpixabay.com โดย louisehoffmann83
อากาศ ที่ถ่ายเทและสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำงาน เกือบ 100% ส่วนใหญ่ของออฟฟิศจะเป็นอากาศแบบปิด เนื่องจากใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งหากขาดการทำนุงบำรุงอาจทำให้อากาศในออฟฟิศไม่บริสุทธิ์ ทั้งจากเชื้อราสะสมและก๊าซคาร์บอนฯ จากระบบเครื่องปรับอากาศ หรือหากเป็นโรงงานที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศก็ควรเป็นพื้นที่ที่อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก เป็นการเอื้อในการทำงานได้อย่างหนึ่งเช่นกันค่ะ
การออกแบบและตกแต่งภายใน เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เกิดพลังการทำงานได้เป็นอย่างดี การออกแบบที่นั่งให้ไม่แออัดเกินไปก็ช่วยได้ หรือการควบคุมแสงให้เพียงพอต่อการทำงาน รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ดี รองรับเข้ากับสรีระของคนพำงาน เพราะพนักงานส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตอยู่บนโต๊ะทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 5 ชม. เลยนะคะ ถ้าออกแบบมาไม่รองรับอาจทำให้เกิดภาวะ Office Syndrome ได้นะคะ
สีสัน ที่สบายตาส่งผลต่างความผ่อนคลายและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน หรือการปลูกต้นไม้ในออฟฟิศก็ช่วยได้นะคะ
เสียง เป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้ทำงานในออฟฟิศได้อย่างสบายใจ โดยเฉพาะเสียงเพลง อาจจะเปิดเพลงคลอเบาๆ หรืออนุญาตให้พนักงานสามารถเปิดเพลงฟังระหว่างทำงานก็เป็นไอเดียที่ไม่เลวนะคะ
ภาพจากpixabay.com โดย StartupStockPhotos
2.ปัจจัยด้านจิตใจและสุขภาพ ก็สำคัญ
ยิ่งข้อนี้ถ้าทำได้คงเป็นเหมือนโบนัส(ที่ไม่ใช่เงิน)อย่างดีให้กับคนทำงานเลยก็ว่าได้ค่ะ
หัวหน้างานดีลูกน้องก็แฮปปี้ การสนับสนุนจากหัวหน้างานทั้งในเรื่องของการทำงานหรือในเรื่องของขวัญกำลังใจก็ดี เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานผลงานออกมาได้ดี ก็เนื่องจากหัวหน้างาน ดีนี่แหละค่ะ ลองคิดดูว่าถ้าหากพนักงานมีปัญหาในการทำงาน ก็ปรึกษาไม่ได้ ไม่เคยสอนงานให้ ไม่เคยวางแผนในการพัฒนาพนักงานเลย ทำเป็นอยู่3อย่างคือสั่ง ดุ แล้วก็ด่า ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะเกิดความกดดันเพิ่มขึ้นจากตัวงาน แล้วผลงานของพนักงานจะออกมาดีได้อย่างไรว่าไหมคะ
ภาพจากpixabay.com โดย StockSnap
อาหารเพื่อสุขภาพ อย่างที่ทราบกันว่าการทำงานแบบเร่งรีบจะส่งผลให้คนทำงานต้องกินอาหารแนวฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น ทำให้สุขภาพคนทำงานเสียไป การที่ออฟฟิศจะจัดให้มีการอบรมให้ความรู้เรื่องการทานอาหาร หรืออย่างดีที่สุดคือการเตรียมอาหารกลางวันให้กับพนักงานให้เหมาะกับคนทำงานก็นับว่านอกจากจะช่วยเรื่องสุขภาพแล้วยังช่วยเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายของพนักงานได้อีกทางหนึ่ง แหม.. แบบนี้พนักงานรักตายเลย
ภาพจากpixabay.com โดย StockSnap
โปรแกรมการออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพดี ออฟฟิศจึงควรสนับสนุนให้คนทำงานออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังมาสอนคนทำงาน หรือการจัดเตรียมพื้นที่ในออฟฟิศเพื่อเป็นสถานที่สำหรับออกกำลังกาย หรือออฟฟิศสามารถดีลกับสถาบันออกกำลังกายเพื่อติดตามการออกกำลังกายของคนทำงานในออฟฟิศ
ตรวจสุขภาพพนักงานเป็นประจำ การตรวจสุขภาพของคนทำงานจะช่วยให้ออฟฟิศ ทราบว่าคนทำงานคนไหนที่ต้องดูแลสุขภาพหรือส่งเสริมให้สร้างสุขภาพที่ดี เป็นการตรวจสอบและแจ้งเตือนออฟฟิศถึงความเสี่ยงในสุขภาพคนทำงาน
ภาพจาก pexels.com โดย Pixabay
พื้นที่ผ่อนคลาย อาจจะเป็นห้องกิจกรรมให้เหล่าพนังงานของคุณได้มีพื้นที่เอาไว้ปลดปล่อยบ้าง เช่น บางบริษัทมีห้องปิงปอง หรือ มุมสวนสวยๆเอาไว้นั่งทานข้าวหรือทอดอารมณ์ยามที่เครียดๆจากงาน หรือคิดอะไรไม่ออกเป็นต้น
ภาพจาก pexels.com โดย Jopwell
และนี่คือคำตอบที่เราจั่วหัวกันไว้ข้างต้นว่า ความสุขของพนักงานนั้นจะเป็นความสุขของผู้ประกอบการไปได้อย่างไร ก็ลองนำวิธีต่างๆที่เราแนะนำไปปรับใช้ในองค์กรของคุณดูนะคะอาจจะไม่ต้องทั้งหมดก็ได้ ดูตามความเหมาะสม รับรองว่าแฮปปี้ทั้งคนทำงานและคนจ้างงานแน่นอนค่ะ ไว้คราวหน้าจะนำเคล็ดลับเรื่องราวดีดีมาบอกต่อกันอีกแน่นอนค่ะ ช่วงนี้ก็ดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ(บ่อยๆ)นะคะ :)
ที่มา :
บทความ “ลองทำดู!!! 8 สิ่งที่สำนักงานควรปรับเปลี่ยนเพื่อสุขภาพของคนทำงาน”, เข้าถึงจาก marketingoops.com
บทความ “ผลงานพนักงานจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง”, เข้าถึงจาก prakal.com