เทคนิครับมือ เมื่อความเครียดจากงานรุมเร้า
ภาพจาก pixabay.com โดย lukasbieri
เครียดกับงานมากไปหน่อยหรือเปล่า....?? ในการทำงานแต่ละวันถึงแม้ว่าคุณจะรักงานตัวเองขนาดไหน แต่ถ้าเจองานด่วน งานรีบ งานแก้แล้วแก้อีก ความกดดันจากเพื่อน-เจ้านาย-ลูกค้า-ลูกน้อง เข้าบ่อยๆ ก็ดูดพลังชีวิตของเราไปจนหมด ทำเอาเครียดเป็นธรรมดา เพราะงั้นมาผ่อนคลายหน่อยดีไหมคะ เพื่อสุขภาพกาย-ใจที่ดีค่ะ
ความเครียดคืออะไรและมีสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร
1.ปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดความเครียดได้ คือตัวกระตุ้นที่เกิดจากสภาพแวดล้อม หรือบุคคลรอบข้าง ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวเราโดยตรง เช่น ปัญหาเรื่องงาน การหย่าร้าง การย้ายงาน และความขัดแย้งกันภายในองค์กร เป็นต้น
2.ปัจจัยภายใน
ปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดความเครียด คือตัวกระตุ้นที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง โดยมีเรามีจุดเริ่มต้น เช่น นิสัยที่เป็นคนคิดมากของเรา วิตกและตื่นตูมง่ายกับเรื่องเล็ก กังวลในปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเราคิดในสิ่งเหล่านี้ สารในสมองของเราก็จะไม่สมดุล และก็ให้เกิดความเครียดได้
รับมือความเครียดอย่างไรดี
1. สร้างสมดุล
เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาของใครหลายๆ คนเลยทีเดียว ยิ่งเรากำลังเข้าสู่ยุค New Normal ที่หลายๆ คนเริ่มได้ทำงานอยู่บ้าน ยิ่งไม่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อนได้เลย แต่ถึงแม้ว่างานของแต่ละคนจะรัดตัวขนาดไหนก็ต้องหาเวลาพักผ่อนบ้างและวางมือสิ่งที่ทำอยู่เมื่อถึงเวลาเลิกงาน ถึงแม้ว่าเราจะทำงานอยู่ที่บ้านก็ตามค่ะ
2.หาเวลาพักและผ่อนคลายบ้าง
อย่ามัวแต่คร่ำเคร่งกับงานในแต่ละวันจนเกินไป เพราะฉะนั้นระหว่างวันก็เงยหน้าจากงานบ้างค่ะ พักสายตาสัก10 -15 นาที จากหน้าจอคอมหรือกองงานบ้างก็ดีค่ะ ลุกไปเข้าห้องน้ำหรือยืดเส้นยืดสายบ้าง วิธีนี้ช่วยลดความตึงเครียดจากงาน สมองโล่งขึ้นมาบ้าง และอาจช่วยให้เราลดความเสี่ยงโรคออฟฟิศซินโดรมได้ด้วย เพราะนั่งทำงานติดเก้าอี้นานๆออฟฟิศซินโดรมถามหาเอาได้นะคะ
ในวันหยุดก็อาจจะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ หรือหางานอดิเรกที่ชอบทำบ้าง เพื่อที่เราจะได้มีเวลาส่วนตัว อ้อ อย่าลืมเรื่องรับประทานกับออกกำลังกายด้วยนะคะเพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราให้ดี
3.ปฏิเสธให้เป็น
การเรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันหรือว่าการทำงานได้ เพราะบ่อยครั้งที่คนส่วนใหญ่ ไม่กล้าปฏิเสธและตอบตกลงในทุกๆเรื่องเพราะว่าเราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าการปฏิเสธหรือการไม่ทำตามกฎจะมีการลงโทษ ถ้าหากมองในแง่ของการทำงาน การที่เราปฏิเสธก็อาจจะทำให้เราถูกมองไม่ดี และไม่ได้รับความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
แต่ในบางครั้งการปฏิเสธก็มีข้อดีเช่นกัน ยกตัวอย่าง กรณีที่มีภาระงานที่มาก และกำลังจะต้องส่งงาน แต่เพื่อนมาขอความช่วยเหลือ การปฏิเสธนั้นไม่ใช่เป็นการแสดงว่าเราไม่มีน้ำใจที่จะช่วยเหลือ แต่เป็นการแสดงถึงว่าเรามีภาระงานที่ต้องทำเช่นกัน หรือรวมถึงงานอื่นๆ ถ้าหากเรามองว่างานนั้นมีความเสี่ยงและอาจเกิดความล้มเหลวได้ในอนาคต เราก็อาจจะหยุดและลองประเมินความเสี่ยงและความน่าจะเป็นก่อนที่จะดำเนินงานต่อไป
4.อย่าเก็บความเครียดไว้คนเดียว
การบอกเล่าปรึกษาให้คนรอบข้างได้รับรู้บ้าง แค่ "พูดมันออกมา" เลยค่ะพูดมันกับใครก็ได้ค่ะที่เรารู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ ต่อให้เขาจะช่วยได้หรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยมันทำให้เราสบายใจมากขึ้นได้นะ กลับกันเมื่อเราเป็นผู้ฟัง เราก็ควรเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยเช่นกันค่ะ แล้วก็เลือกฟิลและจังหวะในการพูดให้ดีนะคะไม่งั้นเราอาจจะกลายเป็นบุคคลtocxic เป็นมลภาวะเพิ่มความเครียดให้คนอื่นเสียเองแบบในข้อต่อไปได้ค่ะ
5.อยู่ห่างคนคิดลบ
หลายๆ ครั้งที่เราเจอเพื่อนร่วมงานที่มักจะคิดลบกับทุกสิ่งและคอยพูดให้เรารู้สึกแย่ไปด้วย การอยู่ใกล้ๆ คนประเภทนี้ ยิ่งจะคอยแต่จะกระทบกับสุขภาพจิตของเรา เพราะฉะนั้นหากไม่อยากจะต้องเครียดเพราะคนแบบนี้ก็ลองหาทางเลี่ยงๆ ไม่ต้องไปฟังสิ่งที่คนประเภทนี้พูด หรืออย่าเก็บคำพูดของเขามาใส่ใจค่ะ
6.ฝึกการหายใจ ผ่อนคลายความเครียด
วิธีผ่อนคลายความเครียดวิธีสุดท้ายและง่ายที่สุดแถมยังสามารถทำได้ทุกเวลาคือ “การหายใจ” นั่นเองค่ะ เพราะตามปกติคนทั่วไปจะหายใจตื้นๆ ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายน้อยกว่าที่ควร แล้วยิ่งเมื่อเราเครียด ก็จะยิ่งหายใจตื้นกว่าเดิม การฝึกลมหายใจช้าๆลึกๆ อย่างถูกวิธีจะทำให้หัวใจเต้นช้าลง การเผาผลาญอาหารสมบูรณ์ขึ้น ความดันโลหิตลดลง สมองแจ่มใส ความเครียดลดลง และอามรมณ์ดีขึ้นค่ะ
** ทริคเสริม นอกจากนี้การฝึกหายใจยังใช้ได้กับกรณีที่นอนหลับยากได้ด้วยนะคะ เพียงแค่หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆในจังหวะ 4-7-8 ใน 1 นาที (โดยDr. Andrew Weill ) โดยทำตามนี้ค่ะ
1. พ่นลมหายใจออกทางปาก เป่าลมออกมาให้เกิดเสียงดัง “ฟู่”
2. หายใจเข้าทางจมูกโดยเร็ว สูดลมหายใจเข้ายาว ๆ จับเวลาโดยการนับเลข 1-4
3. กักลมหายใจให้ค้างอยู่ในปอด นับเลข 1-7
4. พ่นลมหายใจออกทางปาก เป่าลมออกมาให้เกิดเสียงดัง “ฟู่” ยาวจนนับได้ครบ 1-8
5. หายใจเข้าไปใหม่ นับเป็นการหายใจครบ 1 เซต เริ่มหายใจตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนขั้นตอนสุดท้าย ทำทั้งหมด 4 เซต
วิธีนี้ช่วยให้ออกซิเจนเพิ่มขึ้น และผ่อนคลายระบบประสาท parasympathetic (ระบบประสาทที่ทำให้อวัยวะพร้อมทำงาน) และทำให้ร่างกายสงบมากขึ้นทำให้หลับง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ ลองไปทำดูได้ค่ะเพราะแอดมินเองเคยลองแล้วได้ผลอยู่นะคะ
เครียดแค่ไหนถึงควรพบจิตแพทย์
ภาพจาก pixabay.com
หากใครที่คิดว่ารับมือกับความเครียดสะสมจากการทำงานด้วยตัวเองไม่ไหวทำอย่างไรก็ไม่หายการพบจิตแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีนะคะ เพราะจะได้รับคำแนะนำที่และการรับมืออย่างถูกวิธีจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง แต่ถ้าปล่อยไว้อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งกาย-ใจ ส่วนใครไม่แน่ใจว่าอาการเครียดของตัวเองเข้าข่ายต้องพบจิตแพทย์หรือเปล่าก็สังเกตได้จาก...
- มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจนถึงขั้นรุนแรงมากๆ เช่น เมื่อก่อนเป็นคนพูดน้อย แต่ตอนนี้กลายเป็นพูดไม่หยุด, จากเคยเป็นคนอารมณ์เย็นกลับกลายเป็นคนอารมณ์ร้อนเกินความพอดี เป็นต้น
- มีอาการยึดติดกับอดีต เช่น ไม่สามารถลืมเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตได้ มองเห็นภาพเดิมซ้ำๆ จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น
- มีความผิดปกติกับร่างกายเกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น นอนไม่หลับซ้ำๆ ปวดหัวบ่อยๆ หรือป่วยแบบไม่มีสาเหตุติดต่อกัน เป็นต้น
- ไม่สามารถจัดการกับความสัมพันธ์กับคนรอบตัวได้ ไม่ว่าจะกับครอบครัว เพื่อน คนรัก หรือผู้คนที่รู้จักทั่วไปก็ตาม
ต่อให้คุณจะคิดว่าตัวเองอดทนได้แค่ไหน แต่ความเครียดเป็นสิ่งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับมัน และทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีคลายความเครียดที่เรานำมาแชร์เป็นทางเลือกให้ได้ลองนำไปทำตามกันดู หวังว่าจะช่วยให้คุณผู้อ่านคลายเครียดได้นะคะ ได้ผลเป็นอย่างไร ก็อย่าลืมมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ
ที่มา: - women.trueid.net
- arnondora.in.th
- rajavithi.go.th
- cigna.co.th
กลับไปหน้าหมวดบทความนี้ Recess & Relax
ดูบทความของ Garment Job ทั้งหมด