ร้านค้าออนไลน์ จะต้องทำอย่างไรเมื่อโดนภาษีย้อนหลัง
ภาพจากpixabay.com โดย mohamed_hassan
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีกรณีที่แม่ค้าออนไลน์ท่านหนึ่งโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจนเกิดเป็นกระแสข่าวขึ้นมา ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์หลายคนเองก็คงจะกังวลไม่ใช่น้อยว่าแล้วฉันจะโดนด้วยไหม แล้วถ้าเกิดโดนจะต้องทำอย่างไร ต้องถูกดดำเนินคดีติดคุกเลยหรือเปล่า สารพัดคำถามที่เกิดขึ้น บทความนี้เรามีข้อมูลมาฝากกันค่ะ
ทำไมถึงโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง?
เริ่มที่สาเหตุกันก่อนเลยค่ะหลายคนกังวลว่าร้านของตัวเองจะเป็นร้านที่โดนเรียกเก็บหรือไม่ต้องบอกอย่างนี้ค่ะว่าทุกร้านออนไลน์มีสิทธิโดนทั้งนั้นค่ะไม่ว่าจะร้านเล็กหรือร้านใหญ่ แต่ถ้าร้านของคุณมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และยังไม่ได้ไปยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งหากถูกกรมสรรพากรตรวจสอบ แล้วพบว่าร้านค้าไม่ได้มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% แล้วล่ะก็ คุณคือเป้าหมายค่ะ โดยพนักงานสรรพากรจะเรียกพบเพื่อให้มาชี้แจงรายละเอียด ทันที และจะต้องจ่ายคืนภาษีย้อนหลังให้กับสรรพากร โดยคิดจากรายได้ย้อนหลังทั้งหมด 5 ปี หรือรายได้ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเปิดร้านค้านั่นเองค่ะ
ส่วนถ้าถามว่าแล้ว “สรรพากรรู้ได้อย่างไร ว่าคุณไม่ได้จ่ายภาษี” คำตอบก็คือทางสรรพากรจะได้รับข้อมูลทางการเงินทั้งหมดของคุณจากธนาคารนั่นเองค่ะ หากพบว่ามีเงินเข้า-ออกเกิน3,000 ครั้งต่อปี หรือเกิน 400 ครั้งต่อปีและได้เงินรวม 2 ล้านบาทขึ้นไปเข้าข่ายบัญชีที่น่าสงสัย และสรรพากรก็จะขอเข้าตรวจสอบเส้นทางการเงินของคุณค่ะ
ซึ่งหากพบว่าไม่ได้มีการชำระภาษีตามกำหนดจะโดนเบี้ยปรับ 1-2 เท่า บวกกับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ดังนั้น จากที่ผู้ค้าออนไลน์อาจจะต้องเสียภาษีเพียง 1 ล้านบาท แต่หากรวมๆ กับค่าปรับแล้วอาจต้องจ่ายสูงถึง 3-4 ล้านบาทเลยทีเดียว
โดนภาษีย้อนหลังขายของออนไลน์ ต้องทำอย่างไร
คำถามต่อมาก็คือแล้วถ้าโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังแล้วจะต้องทำอย่างไร? อันดับแรกที่จะแนะนำคือ อย่าเพิ่งตกใจจนเกินไปค่ะ ตั้งสติใจเย็นๆและทำตามข้อแนะนำดังนี้ค่ะ
- ชี้แจงรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่สรรพากรตามจริง
เมื่อถูกตรวจพบและโดนภาษีย้อนหลังจากการขายของออนไลน์ แล้วให้ไปพบกับเจ้าหน้าที่สรรพากรตามที่นัดหมายไว้ เพื่อเข้าพูดคุยและชี้แจงรายได้ทั้งหมดตามความเป็นจริง และยอมเสียภาษีย้อนหลังแต่โดยดี เพราะถือเป็นความผิดพลาดของทางร้านค้าเองที่ไม่ยื่นเสียภาษีตั้งแต่แรก
- เตรียมหลักฐาน Bank Statement ย้อนหลังทั้งหมด
ให้คุณเตรียม Bank Statement ที่แสดงรายการรายรับย้อนหลังทั้งหมดตั้งแต่เปิดร้าน สำหรับร้านค้าที่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน แต่สำหรับร้านค้าที่เปิดมานานแล้ว ก็อาจจะถูกขอเอกสารย้อนหลังประมาณ 5 ปี เพื่อเป็นการตรวจสอบว่ายอดรายได้ทั้งหมดที่เกินกว่า 1.8 ล้านบาท นั้นมีจำนวนมากหรือน้อยเพียงใด
- เตรียมหลักฐานรายจ่ายต่างๆ เพื่อนำไปหักออกจากรายได้
รายจ่ายหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ต้นทุนสินค้า รายการกู้ยืมเงิน ฯลฯ สามารถนำไปแสดง เพื่อหักออกจากรายได้ ทำให้รายได้สุทธิที่ต้องนำมาคิดภาษีนั้นลดลง นอกจากนี้ร้านค้ายังสามารถเจราจาต่อรองกับเจ้าหน้าเพื่อลดค่าปรับได้ และหากจำเป็นจริงๆ สามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวด แต่จะมีการคิดดอกเบี้ยเพิ่มค่ะ
ถ้าไม่ชำระในกำหนดเวลาหรือชำระไม่ถูกต้องจะมีความรับผิดอย่างไรบ้าง?
เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถือเป็นบทลงโทษเกี่ยวกับภาษีอากรอย่างหนึ่ง และอาจมีโทษทางอาญาด้วย แล้วแต่ความผิดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงขั้นไหน โดยหากบุคคลใดยื่นแบบฯ ภายในกำหนดแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือยื่นแบบฯ ล่าช้า ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบฯ จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืนไม่ยอมชำระ ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วย ซึ่งมีบทลงโทษ ดังนี้ค่ะ
- กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
- กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
- กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
- กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
- กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
วิธีป้องกันการโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
แต่ถ้าหากว่าคุณไม่อยากที่จะต้องมากังวลเรื่องการเสียภาษีย้อนหลังแล้วล่ะก็ เรามีคำแนะนำเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ
- จดบันทึกรายการซื้อ-ขายสินค้าเพื่อนำมาใช้ในการทำบัญชีรายรับรายจ่ายรายวัน ทำให้ไม่ลืม ไม่สับสน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินได้ง่ายกว่าการทำย้อนหลังมากๆ
- เก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้า ธุรกรรมทางการเงิน จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเมื่อสรรพากรเข้ามาขอตรวจสอบอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าความถี่และจำนวนเงินโอนเข้าบัญชีเข้าเกณฑ์ภาษีอีเพย์เมนต์ ตามที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น
- ศึกษาและติดตามข่าวสารทางด้านการเงินและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีอย่างต่อเนื่อง เพราะเงื่อนไขในแต่ละปี มีอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ การอัพเดทอยู่เสมอจะช่วยให้จัดการภาษีได้ถูกต้องตามเงื่อนไข จัดการการเงินของตัวเองได้อย่างเหมาะสม และไม่มีปัญหาย้อนหลัง
ที่มา :
กรมสรรพากร
angkokbiznews.com
packhai.com
กลับไปหน้าหมวดบทความนี้ Learning your work
ดูบทความของ Garment Job ทั้งหมด