เงินทดแทนว่างงาน สิทธิจากประกันสังคมที่ลูกจ้างควรรู้
ภาพจาก pixabay.com โดย succo
เพราะ “สภาวะตกงาน” ไม่ได้น่าพิสมัยนัก และอาจเป็นฝันร้ายของใครหลายคนในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สามารถคาดเดาได้เช่นนี้ แต่เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องยอมรับชะตากรรม แต่ถึงแม้จะแย่อย่างไรเหล่าลูกจ้างทั้งหลายก็ยังมีเงินทุนสำรองอันเป็นบุญเก่าจากการส่งประกันสังคมทุกเดือนๆให้ได้พึ่งพิงอย่าง “เงินทดแทนว่างงาน” ส่วนจะมีเงื่อนไข และ หลักเณฑ์ ขั้นตอนในการรับเงินส่วนนี้อย่างไรไปดูกันค่ะ
คุณเข้าข่ายอยู่ในเกณฑ์รับงดแทนหรือไม่
อันดับแรกคุณต้องเช็คก่อนว่า คุณเข้าข่ายอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินทดแทนส่วนนี้หรือไม่จากหลังเกณฑ์ที่ทางประกันสังคมระบุไว้ดังนี้ค่ะ
- จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย หรือกรณีผู้ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
- มีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
- ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th) ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนับแต่วันที่ 8 ของการว่างงาน
- ต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th) ของสำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
- เป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดให้
- ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
- ผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี มีดังนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณี ร้ายแรง
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
- ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
ถ้าหากว่าคุณเช็คตัวเองแล้วว่าเข้าข่ายตรงตามที่เงื่อนไขด้านบนระบุไว้เรียบร้อยแล้วคุณก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามนี้ค่ะ
กรณีถูกเลิกจ้าง
คุณจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา
และสำหรับกรณีที่ลาออกเองคุณจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท และเมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออก) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต)
ประโยชน์ทดแทนทุกกรณีเมื่อมีสิทธิต้องยื่นเรื่องรับเงินภายใน 1 ปี เว้นแต่ กรณีว่างงานผู้ประกันตนจะต้องยื่นขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ต้องยื่นสิทธิภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน ถ้าหากปล่อยเวลาเกินหนดระยะเวลา30 วันก็จะหมดสิทธิ์ในการรับเงินทดแทน และไม่สามรถรับสิทธิย้อนหลังได้ค่ะ
*** หมายเหตุ ในกรณียื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
ใช้เอกสารอะไรบ้าง
เอกสารที่คุณจะต้องเตรียมเพื่อไปขอยื่นมีดังนี้ค่ะ
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
- หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
- หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
- หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยกรณีเป็นผู้ประกันตนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ผ่าน 11 ธนาคาร ดังนี้
1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
2) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)
3) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
4) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)
5) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
6) ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)
7) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
8) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
9) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
10) ธนาคารออมสิน
11) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ซึ่งคุณสามารถนำเอกสารทั้งหมดนี้เข้าไปยื่นได้ทั้งในออนไลน์ผ่านทาง เว็บไซต์ของของสำนักงานจัดหางานของรัฐ และที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน หรือตามที่สะดวกในวันและเวลาราชการ 08.30-16.30 น.ได้เลยค่ะ (โทรสายด่วน 1694)
ที่มา :
สำนักงานประกันสังคม
lb.mol.go.th