ทำความรู้จักภาษีน้องใหม่ “e-Service” คืออะไร? ร้านออนไลน์ต้องจ่ายเพิ่มไหม?
ภาพจาก pixabay.com/Megan_Rexazin
อย่างที่หลายท่านได้ทราบกันว่าทางรัฐบาลได้มีการบังคับใช้ภาษี e-Service อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา (ทั้งนี้กรมสรรพากรได้เปิดให้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ล่วงหน้าไปตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564) และคงพอทราบกันบ้างแล้วว่าภาษีน้องใหม่ตัวนี้ จะเก็บกับธุรกิจ เกี่ยวแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ แต่ด้วยความที่เป็นการบังคับใช้ใหม่หลายคนอาจจะยังสับสนว่าครอบคลุมธุรกิจแบบไหนบ้าง แล้วธุรกิจออนไลน์ต้องจ่ายด้วยไหม จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันค่ะ
ภาษี e-Service คืออะไร
“e-Service” จะเป็นการจัดเก็บ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” (VAT) กับธุรกิจหรือ ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และอิเล็กแพลตฟอร์มต่างๆที่มีรายได้เกิดขึ้นจากในประเทศไทย เช่น Facebook, Google,youtube ,tiktokเป็นต้น ซึ่งถ้ามียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบการเหล่านั้นจะต้องจ่ายภาษีส่วนนี้ให้กรมสรรพากร ไทย ซึ่งปัจจุบันคิดอัตรา 7% ของราคาค่าบริการ หรือที่คุ้นกันก็คือ VAT 7% นั่นเองค่ะ ทั้งนี้ผู้ประกอบการ e-Sevice ต้องจดทะเบียนกับระบบ VES (VAT for Electronic Service) ที่ www.rd.go.th โดยสามารถยื่นแบบ และชําระภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ VES ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไปค่ะ
5 ธุรกิจที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม e-Service
สำหรับธุรกิจที่ต้องมาจดทะเบียนและดำเนินการทางภาษี แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย
- ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับขายของออนไลน์ อย่างเช่น Amazon, Alibaba, เถาเป่า เป็นต้น
- ธุรกิจให้บริการโฆษณาออนไลน์ เช่น การซื้อ โฆษณาบน Facebook, Google,Instagram เป็นต้น
- ธุรกิจให้บริการจองโรงแรม ที่พักและการเดินทาง เช่น Agoda, Traveloka, Booking เป็นต้น
- ธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย เช่น lineman, grab,Uber เป็นต้น
- ธุรกิจให้บริการสมาชิกดูหนังฟังเพลงออนไลน์ เกม และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น App Store, Play Store, Youtube, Netflix, Spotify เป็นต้น
ซึ่งเหตุผลหลักๆในการเก็บภาษี “e-Service นั้นก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการไทย กับผู้ประกอบการจากต่างประเทศนั่นเอง ค่ะเพราะโดยปกติแล้วเมื่อทำธุรกิจ ผู้ประกอบการจดทะเบียนในไทยจะต้องจ่ายภาษี VAT 7% ให้กรมสรรพากรมาโดยตลอด แต่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่มีรายได้ในประเทศไทยกลับไม่เคยต้องเสียภาษี ในส่วนนี้เลย เนื่องจากกฎหมายเดิมนั้นไม่ได้ครอบคลุม ทำให้อาจเกิดความไม่เท่าเทียม เสียเปรียบกันในแง่ของการแข่งขันของผู้ประกอบการต่างชาติ และผู้ประกอบในประเทศที่มีธุรกิจประเภทเดียวกัน
ดังนั้น กฎหมาย e-Service จึงออกมาเพื่อช่วยปิดช่องโหว่ตรงนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการต่างชาติต้องจดทะเบียนและเสียภาษีเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทย ซึ่งทางกรมสรรพากรเองก็คาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มขึ้นปีละ 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียวค่ะ
ซึ่งใครที่อยากทราบรายชื่อผู้ประกอบการ e-Service ที่จดทะเบียนแล้ว ก็สามารถเช็คได้บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ที่ http://esrvice.rd.go.th ค่ะ
ผลกระทบจาก “e-Service”
สำหรับคนที่ขายของ-ซื้อของออนไลน์ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในขอบข่าย ของกฎหมายที่จะต้องชำระภาษี“e-Service” โดยตรงให้กับรัฐบาลก็จริง (เพราะร้านค้าออนไลน์ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นบริษัทที่จดทะเบียน VAT เพื่อเสียภาษีทุกเดือนอยู่แล้วค่ะ) แต่ถ้าถามถึงผลกระทบทางอ้อมที่มีแนวโน้มจะเป็นไปได้ก็คือ
ในส่วนของร้าค้าออนไลน์ต่างๆอาจส่งผลให้ต้นทุนของคุณอาจจะเพิ่มขึ้นจากการที่แพลตฟอร์มต่างๆอาจจะขึ้นค่าบริการการโฆษณา หรือโปรโมทร้านค้า สินค้า หรือบริการของคุณก็เป็นได้
ส่วนในฐานะผู้ซื้อสินค้า นั้นก็อาจจะได้รับผลกระทบในแง่ราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั่นเองค่ะ
ซึ่งในข้อนี้ก็ขึ้นอยู่กับเหล่าผู้ประกอบการเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆด้วยว่าจะตัดสินใจแชร์ภาระแบ่งรับแบ่งสู้กับลูกค้าอย่างเราหรือไม่นั่นเองค่ะ
ที่มา : rd.go.th
kapook.com
smethailandclub.com