จะได้ค่าชดเชยเท่าไหร่? เมื่อโดนเลิกจ้างกะทันหัน
ภาพจาก pixabay.com โดย ijmaki
ที่ผ่านมาเราได้ยิน ได้ฟังข่าวมาพอสมควรเกี่ยวกับการที่บริษัทต่างๆเลิกจ้างพนักงาน คนงาน กะทันหัน หรือที่เรียกง่ายๆสั้นๆว่า “ไล่ออก” อย่างไม่เป็นธรรม ไม่ทันได้ตั้งตัว จะด้วยพิษเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตามแต่เหตุผลของนายจ้าง แต่ก็ทำให้หลายต่อหลายคน ตกอยู่ในสภาวะ “ตกงาน” แบบไม่ตั้งตัว ไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจ และไม่มีแผนอะไรรองรับและมีอีกหลายคนที่ได้ยินข่าวแล้วก็เกิดตุ้มๆต่อมๆว่าวันใดวันหนึ่งจะถึงคิวของตัวเองบ้างหรือเปล่า ยิ่งในช่วงยุคเศรษฐกิจแบบนี้ด้วยแล้วยิ่งน่ากลัวไปใหญ่ แต่ไม่ต้องห่วงเรามีสิ่งที่พนักงานหรือลูกจ้างควรต้องรู้ หากถูกเลิกจ้างกะทันหันมาฝากกันค่ะ
อันดับแรกมาดูกันก่อนว่าการกระทำใดที่เข้าข่ายการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม คือ ถ้าเกิดอยู่ๆวันหนึ่งเจ้านายของคุณเกิดเรียกคุณเข้าไปพบ และเซอไพรส์คุณด้วยการยื่นซองขาวที่แน่ใจชัวร์ๆว่าไม่ใช่ชักชวนทำบุญ แต่เป็นการบอกว่าคุณและบริษัทสิ้นบุญต่อกันแล้วอย่างไม่ทันตั้งตัวโดยที่คุณก็ไม่ได้ทำผิดสัญญาตามกฏหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ที่ได้บัญญัติถึงเหตุอันสมควรซึ่งนายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างกับนายจ้างได้ โดยเหตุอันสมควร ตามมาตรา 119 มี 6 ประการ ดังนี้ค่ะ
- ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
- ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
- ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด หากเป็นความผิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายด้วย
ถ้าหากว่าคุณไม่ได้ถูกเลิกจ้างด้วยสาเหตุตาม 6 ข้อข้างต้นนั้นก็สามารถเรียกร้องสิทธิค่าชดเชย ได้ตามกฎหมาย แต่..ในทางกลับกันถ้าถูกเลิกจ้างจากเหตุผลดังกล่าว ก็จะอดเงินชดเชยนั่นเองค่ะจะไม่ได้รับเงินชดเชยตามที่ระบุไว้
แล้วลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยอย่างไร ได้เท่าไหร่?
ในส่วนของการชดเชยนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ “เงินค่าชดเชยการถูกเลิกจ้าง” กับ “เงินค่าตกใจ” ซึ่งเป็นสิทธิที่ลูกจ้างจะพึงได้รับจากนายจ้างกรณีให้ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้เป็นคนผิดสัญญาจ้าง เพื่อช่วยเหลือในระหว่างการว่างงานนั่นเองค่ะ ในส่วนของรายละเอียดจะขออธิบายแบบนี้....
1.เงินค่าตกใจ
อย่างที่ว่าไปก่อนหน้านี้ว่าถ้าคุณได้รับการเซอไพรซ์จากเจ้านายเป็นซองขาว แบบไม่ทันตั้งตัว ไม่บอกล่วงหน้าก่อน 30-60 วัน เจ้านายจะต้องจ่ายเงินชดเชยในส่วนนี้ให้กับคุณ เป็นค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน และอีกส่วนหนึ่งคือ..... (ข้อ2)
2. เงินค่าชดเชยการถูกเลิกจ้าง
โดยส่วนนี้แล้วเมื่อคุณต้องถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหัน โดยที่ไม่ได้ทำผิดสัญญาใดๆ ของบริษัท บริษัท หรือเจ้านายของคุณจะต้องจ่ายให้คุณตามกฏหมาย พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะได้ไม่เท่ากันเพราะค่าชดเชยก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเดือนและอายุของการทำงาน ยิ่งอยู่กับบริษัทมานานก็จะยิ่งได้ค่าชดเชยมาก โดยนายจ้างต้องเป็นคนจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นค่าชดเชยที่คำนวณจากอายุงานของลูกจ้างเอง ดังนี้ค่ะ
- ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
- ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
- ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
- ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
- ทำงานครบ 10 ปีขึ้น ได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
- ทำงานครบ 20 ปี ขึ้นไปได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 400 วัน
และนอกเหนือจากเงินค่าชดเชยจากบริษัท หรือเจ้านายของคุณ ตามที่กล่าวไปข้างต้นที่คุณจะได้รับแล้ว ระหว่างที่คุณยังเป็นผู้ว่างงานอยู่นั้น คุณก็ยังมีสิทธิจะได้รับเงินชดเชยการว่างงานจากและสิทธิประโยชน์อื่น จาก สำนักงานประกันสังคมอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ
สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม
และสำหรับเงินส่วนนี้ เป็นเงินช่วยเหลือกรณีว่างงานคุณจะได้รับจากประกันสังคม โดยมีเงื่อนไขว่าคุณจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน โดยจะต้องรีบไปขึ้นทะเบียนหางาน ณ สำนักจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้าง และยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคม ซึ่งจะ ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท เป็นต้น ค่ะ
เพราะฉะนั้นแล้วถ้าหากใครที่ต้องถูกเลิกจ้างกะทันหันก็คลายกังวลในส่วนของค่าใช้จ่ายระหว่างที่คุณจะต้องว่างงาน แล้วนะคะ
ที่มา :