ความลับทางการค้า หัวใจสำคัญของธุรกิจ
-ขอบคุณภาพจาก pixabay.com โดย mohamed_hassan
ความลับทางการค้า คือ ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากการเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ โดยตามปกติแล้วความลับทางการค้าจะได้รับความคุ้มครองอยู่ตราบเท่าที่ยังไม่มีการเปิดเผยและความลับทางการค้าจะได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องมีการจดทะเบียนแต่อย่างใด และเจ้าของความลับทางการค้าสามารถเลือกที่จะแจ้งข้อมูลความลับทางการค้า คือ ในกรณีที่อาจนำความลับทางการค้าของตนมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากธนาคารได้
ซึ่ง “เจ้าของความลับทางการค้า” คือ ผู้ค้นพบ คิดค้น รวบรวม หรือสร้างสรรค์ข้อมูลการค้าที่เป็นความลับทางการค้าโดยมิได้เป็นการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าของผู้อื่น หรือผู้มีสิทธิโดยชอบในผลการทดสอบหรือข้อมูลการค้าที่เป็นความลับทางการค้า และให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545
และ “ผู้ควบคุมความลับทางการค้า” คือ เจ้าของความลับทางการค้า และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครอง ควบคุม หรือดูแลรักษาความลับทางการค้าด้วย
( อ้างอิงจาก พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 มาตรา 3 )
โดยข้อมูลการค้าที่จะเป็นความลับทางการค้า ที่จะได้รับความคุ้มครองตามพรบ.นี้ คือ
- ข้อมูลเกี่ยวกับการค้า เช่น ข้อมูลสินค้า สูตร ส่วนผสม เทคนิคหรือกรรมวิธีการผลิตสินค้า รวมถึงขั้นตอนการทำงานของสินค้า
- ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์ เป็นความลับที่มีความสำคัญกับกิจการ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ข้อมูลการขาย แผนการตลาด ราคาประมูลสินค้า รายชื่อลูกค้า
บทลงโทษต่อผู้ละเมิดพรบ.ความลับทางการค้า
สำหรับบทกำหนดโทษลงโทษนั้น พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 (มาตรา 31 – มาตรา 38) ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ไว้ เช่น ผู้ใดเปิดเผยความลับทางการค้าของผู้อื่นให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางกาค้านั้นสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้า โดยเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้รับความเสียหายในการประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะกระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร การกระจายเสียง หรือการแพร่ภาพ หรือการเปิดเผยด้วยวิธีอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาทถ้วน หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น
การกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในความลับทางการค้า
- การเปิดเผยหรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าโดยบุคคลที่ได้ความลับทางการค้านั้นมาโดยทางนิติกรรม โดยไม่รู้หรือไม่มีเหตุสมควรรู้ว่าความลับทางการค้านั้น คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้มาโดยการละเมิดในความลับทางการค้าของบุคคลอื่น
- การเปิดเผยหรือใช้ซึ่งความลับทางการค้าโดยหน่วยงานของรัฐซึ่งดูแลรักษาความลับทางการค้าในกรณีดังต่อไปนี้
- ในกรณีจำเป็นเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยหรือความปลอดภัยของสาธารณชน หรือ
- ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่นซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าและในกรณีดังกล่าว หน่วยงานของรัฐซึ่งดูแลรักษาความลับทางการค้านั้น หรือหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ความลับทางการค้านั้นไป ได้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อคุ้มครองความลับทางการค้าดังกล่าวจากการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ที่ไม่เป็นธรรม
- การค้นพบโดยอิสระ ซึ่งได้แก่การค้นพบความลับทางการค้าของผู้อื่น โดยผู้ค้นพบได้ใช้วิธีการประดิษฐ์หรือจัดทำขึ้นด้วยความรู้ความชำนาญของผู้ค้นพบนั้นเอง หรือ
- การทำวิศวกรรมย้อนกลับ ซึ่งได้แก่การค้นพบความลับทางการค้าของผู้อื่นโดยผู้ค้นพบได้ทำการประเมินและศึกษาวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป เพื่อค้นคว้าหาวิธีที่ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการประดิษฐ์ จัดทำ หรือพัฒนา แต่ทั้งนี้ บุคคลซึ่งทำการประเมินและศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวจะต้องได้ผลิตภัณฑ์เช่นว่านั้นมาโดยวิธีที่สุจริต
การกระทำตามข้อ4 ไม่อาจถูกยกขึ้นกล่าวอ้างได้ ถ้าบุคคลซึ่งทำวิศวกรรมย้อนกลับดังกล่าวได้ทำสัญญากับเจ้าของความลับทางการค้าหรือผู้ขายผลิตภัณฑ์ที่ทำวิศวกรรมย้อนกลับไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้ง ( อ้างอิงจาก พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 มาตรา 7 )
ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาความลับทางการค้าของธุรกิจของคุณเอาไว้ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือผู้ไม่พึงประสงค์จนส่งผลกระทบกับธุรกิจ ผู้ประกอบการหรือผู้ที่เป็นเจ้าของความลับทางการค้าควรมีมาตรการในการรักษาความลับทางการค้าอย่างเหมาะสมและปลอดภัย โดยใช้แนวทาง 3 ข้อดังนี้
- มาตรการด้านกายภาพ ได้แก่ การจัดเก็บข้อมูลไว้ในที่ปลอดภัย เช่น ใส่ในตู้นิรภัย หรือในพื้นที่ที่ต้องมีการเข้ารหัส หรือในพื้นที่เขตหวงห้ามและห้ามนำออกนอกพื้นที่ ข้อมูลความลับทางการค้าที่เก็บไว้ในรูปแบบไฟล์ควรมีการเข้ารหัสการเข้าถึง
- มาตรการด้านสัญญา ได้แก่ ทำสัญญารักษาความลับทางการค้ากับผู้เกี่ยวข้อง โดยไม่ให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับกับบุคลที่สาม หรือบุคคลภายนอก หากฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย
- มาตรการทางด้านกฎหมาย ได้แก่ แจ้งข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ความลับทางการค้า ถือเป็นหัวใจในการทำธุรกิจเลยก็ว่าได้ ดังนั้นการทราบรายละเอียดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการรักษา “ความลับทางการค้า” เอาไว้จึงเป็นการป้องกันธุรกิจของคุณจากความเสียหายได้เป็นอย่างดี หวังว่าบทความนี้จะช่วยคุณผู้อ่านได้บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ ส่วนผู้อ่านคนไหนอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับ พรบ.พระราชบัญญัติความลับทางการค้า โดยละเอียด ก็สามารถคลิกลิงค์นี้ได้เลยค่ะ ( พรบ.พระราชบัญญัติความลับทางการค้า )
ที่มา : กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ipthailand.go.th)