เป็น SMEs ต้องจ่ายภาษีอะไรบ้าง ? ไปดูกัน
ภาพจาก : Bru-nO
“ภาษี” ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคนที่มีหน้าที่ต้องชำระให้กับ รัฐบาลและประเทศชาติ แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นเรื่องเข้าใจยากสักนิด แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกันนะคะ และการเสียภาษีนั้นก็แบ่งออกได้หลายประเภท ทั้งภาษีแบบบุคล หรือแม้แต่การทำธุรกิจก็ต้องมีการ ชำระภาษีทั้งสิ้นค่ะ
แต่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปสักนิดน่าจะอยู่ตรงที่เจ้าของธุรกิจเล็กๆมือใหม่บางคน มักเข้าใจว่า ทำธุรกิจเล็กๆ หรือเป็นธุรกิจภายในครอบครัว ไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่โต จะต้องเสียภาษีหรือเปล่านะ เอ๊ะหรือไม่ต้องนะ จนบางคนอาจละเลยตรงนี้ไปได้ แต่คำตอบก็คือ ไม่ว่าคุณจะประกอบธุรกิจในรูปแบบไหนก็แล้วแต่ คุณก็ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลค่ะ
มาทำความรู้จักกับภาษีที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องทำความเข้าใจไว้ดีกว่าค่ะ
- ภาษีเงินได้
อันนี้แบ่งให้เห็นง่าย ๆ เป็น 2 รูปแบบค่ะ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับคนที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ที่ประกอบกิจการด้วยการให้บริการ การผลิต ค้าปลีก ค้าส่ง คุณต้องนำรายได้มาคำนวณเพื่อหักภาษีตามเกณฑ์การประเมิน ซึ่งสามารถหักแบบเหมาจ่าย หรือขอหักตามความจำเป็นตามสมควรได้ รวมทั้งสามารถหักค่าลดหน่อยต่าง ๆ ได้ด้วยค่ะ
การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องเสียภาษได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ไม่ว่าในปีนั้น ๆ คุณจะมีผลกำไรหรือขาดทุน
ภาษีนิติบุคคล เป็นภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคล ในรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยกรรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บเพื่อนำส่งรายได้ให้รัฐบาล เก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 30 % ของกำไรสุทธิ
ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประกอบการแบบไหน ต้องยื่นภาษี 2 ครั้งต่อปี จำง่าย ๆ แค่นี้ค่ะ
บุคคลธรรมดา : แบบภาษีบุคคลธรรมดาครึ่งปีใช้ ภ.ง.ด. 94 และภาษีเงินได้ประจำปีใช้ ภ.ง.ด.90
นิติบุคคล : แบบภาษีเงินได้ครึ่งปีใช้ ภ.ง.ด.51 และภาษีเงินได้ประจำปีใช้ ภ.ง.ด.50
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ชื่อก็บอกอยู่แล้วค่ะ ว่าหัก ณ ที่จ่าย นั่นก็หมายความว่า ถ้ามีการจ่ายเงินคุณต้องหักเงินไว้จำนวน
หนึ่งเพื่อนำส่งภาษีแทนคนที่ได้รับเงินจากคุณ เช่น คุณจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง ก่อนจ่ายเงินเดือนคุณต้องคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ก่อนแล้วหักออกจากเงินเดือน จากนั้นคุณต้องไปนำส่งสรรพากร เป็นการทยอนจ่ายภาษีไม่ต้องจ่ายภาษีเป็นก้อนใหญ่ทีเดียวตอนปลายปี ส่วนอัตราภาษีที่ต้องหัก ขึ้นอยู่กับว่าคุณจ่ายให้ใคร จ่ายค่าอะไร
สรุปง่าย ๆ นะค่ะเอาเป็นว่า ถ้าคุณเป็นคนจ่ายเงินให้คนอื่น ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทยอยจ่ายสรรพากร และในทางตรงกันข้ามถ้าคุณเป็นฝ่ายที่ได้รับเงิน คุณเองก็จะได้รับเงินไม่จำนวนเพราะเขาก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายก่อนให้คุณเช่นเดียวกัน
ส่วนเงินที่ถูกหักไปจะมีเอกสารรับรองการหัก ณ ที่จ่ายเพื่อให้รู้ว่ามีการหักภาษีแล้วนะ ซึ่งผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถนำเอกสารตัวนี้ไปขอคืนภาษีได้ตอนสิ้นปี
Note : แบบฟอร์มยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่นิยมใช้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจ่ายเป็นค่าอะไร
บุคคลธรรมดา : ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3
นิติบุคคล : ภ.ง.ด.53, ภ.ง.ด.54
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตัวนี้ได้ยินกันบ่อย ๆ ใช่ไหมค่ะ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ VAT ซึ่งอันนี้คือภาษีที่เก็บเพิ่มจากราคาสินค้า
หรือบริการที่คิดกับลูกค้า โดยคุณสามารถจดทะเบียนเข้าไปอยู่ในระบบได้ พอคุณจดทะเบียนแล้ว สินค้าหรือบริการของคุณจะถูกจัดอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณก็มีหน้าที่เพิ่มมูลค่าภาษีเข้าไปในสินค้าจากราคาขาย ปัจจุบันคิดที่อัตรา 7% ซึ่งคุณต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ให้กับสรรพากรในเวลาที่กำหนดนะค่ะ
- ภาษีบำรุงท้องที่
ถ้าคุณเป็นเจ้าของที่ดิน คุณก็จะถูกเก็บภาษีเช่นเดียวกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
ซึ่งคุณต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ในเดือนเมษายนของทุกปี
- ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง
อันนี้สำหรับคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับหอพัก ห้องเช่า อพาร์ทเม้น โดยคุณต้องเสียภาษี 12.5% ต่อปีของ
รายได้จากค่าเช่า และคุณต้องชำระภาษีส่วนนี้ที่สำนักงานเขต หรืออำเภอที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
- ภาษีป้าย
ถ้าไม่ใช่ป้ายในลักษณะที่ได้รับการยกเว้นคุณต้องเสียภาษีประเภทนี้ในทุก ๆ ป้ายของคุณค่ะ ไม่ว่าจะ
เป็นป้ายติดหน้าร้าน ป้ายโฆษณา โดยภาษีป้ายจะคิดจากขนาดของป้ายเริ่มต้นที่ 200 บาท ต้องยื่นชำระที่สำนักงานเขต หรืออำเภอที่ตั้งของป้ายภายในเดือนมีนาคมของทุกปีค่ะ
และทั้งหมดนี้ก็คือภาษีต่างๆที่เหล่า SMEs จะต้องทำความเข้าใจ และก็ชำระให้ถูกต้องค่ะ ยังไงก็ลองเช็คดูนะคะว่ามีอันไหนที่เราตกหลนไปหรือไม่อย่างไร ทำให้ถูกต้องจะได้ไม่โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ไม่อย่างนั้นล่ะก็ ปวดหัวแน่นอนเลยล่ะค่ะ ^^
ที่มา : taokaemai.com